Skip to content
นักเรียนจะได้ร่วมกิจกรรมเป็นภาษาอังกฤษประมาณ 47-50% ของเวลาเรียน โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการเรียนการสอนด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี การสนทนาภาษาอังกฤษและการเรียน Phonics กับคุณครูชาวอังกฤษ และคุณครูเชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยการปรับใช้ทฤษฎีพหุปัญญา (The Multiple Intelligences Theory) และการเรียนการสอนแบบโครงงาน (The Project Approach) เข้ากับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน
ทฤษฎีพหุปัญญาโดย ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ มีแนวคิดและหลักการที่ว่า
“มนุษย์ทุกคนมีความสามารถและความฉลาดหลายด้าน ที่ทำงานร่วมกันอย่างเชื่อมโยง แต่ละบุคคลจะมีความฉลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งความฉลาดในแต่ละด้านนี้สามารถพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นได้อย่างไร้ขีดจำกัด” (Armstrong, 2003, p.2).
ทฤษฎีพหุปัญญากำหนดความฉลาดของมนุษย์ไว้อย่างน้อย 8 ด้านอันได้แก่
1. ด้านภาษา
2. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์
3. ด้านมิติ
4. ด้านร่างกาย
5. ด้านดนตรี
6. ด้านมนุษยสัมพันธ์
7. ด้านการเข้าใจตนเอง
8. ด้านธรรมชาติ
โรงเรียนอนุบาลจุติพรได้มีการนำมาปรับใช้กับเด็กปฐมวัยในหลากหลายรูปแบบทั้งการวัดความสนใจและความถนัด ตลอดจนการหาวิธีการปรับปรุงและพัฒนาพหุปัญญา โดยการจัดกิจกรรมกลุ่มและกิจกรรมเดี่ยวที่เด็กได้เลือกตามความสนใจของตนเอง และการใช้ The Project Spectrum Activities ซึ่งเป็นโครงการที่ ดร.การ์ดเนอร์ คิดค้นเพื่อใช้วัดความฉลาดและความถนัดของเด็กปฐมวัยมามาใช้เพื่อสังเกตและค้นหาความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคล และเพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นพหุปัญญาของเด็กแต่ละบุคคลเด่นชัดขึ้น และเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กให้เต็มศักยภาพ รู้ความถนัด ความสามารถของตนเอง ยอมรับและชื่นชมความสามารถของผู้อื่น ตลอดจนสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี
การเรียนการสอนแบบโครงงาน
การเรียนการสอนแบบโครงงาน คือการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งการสืบค้นข้อมูล การทดลอง การสังเกต การวิเคราะห์ การสรุปผล และการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อการจัดแสดง กิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงงานนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการคิดทั้งการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ และคิดแก้ปัญหา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้เด็กได้ ทำงานร่วมกับเพื่อนและครู ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ อีกทั้งได้ใช้ความสามารถเฉพาะด้านของตนในการสร้างสรรค์โครงงาน
ตัวอย่างโครงงานเรื่อง “ฟาร์มแสนสนุก”
ระยะเริ่มต้นโครงงาน
คุณครูและเด็กนำข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ตนสนใจมานำเสนอหน้าชั้นเรียนและร่วมกันลงคะแนนเลือกเรื่องที่จะจัดโครงงาน
ระยะพัฒนาโครงงาน
เด็กและครูสืบค้นข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งทางอินเตอร์เน็ต หนังสือและการสืบเสาะข้อมูลจากผู้รู้ ประมวลความรู้ที่ได้ สรุปและสร้างสรรค์ชิ้นงาน
ระยะสรุปโครงงาน
เด็กร่วมกันวางแผนการนำเสนอผลงาน